เจาะลึก 7 ประโยชน์ของ Probiotic ที่มากกว่าการปรับสมดุลลำไส้

ได้ยินกันบ่อย ๆ โพรไบโอติกมีประโยชน์อย่างนั้น โพรไบโอติกมีคุณสมบัติอย่างนี้ หลาย ๆ สินค้า หลาย ๆ ผลิตภัณฑ์ต่างก็โปรโมตว่ามีเจ้าแบคทีเรียที่เรียกว่าโพรไบโอติกเป็นส่วนประกอบ แต่หลายคนอาจไม่ได้ใส่ใจรายละเอียด รวมถึงไม่แน่ใจว่ามันคืออะไรกันแน่

โพรไบโอติก คือ แบคทีเรีย หรือยีสต์ ที่มีอยู่ในร่างกาย แต่หลาย ๆ คนสงสัยว่า แบคทีเรียไม่ใช่เชื้อโรคหรอกหรือ ต้องบอกว่าแบคทีเรียนั้นมีทั้งชนิดที่ดี และไม่ดี ซึ่งโพรไบโอติกนี้ จัดอยู่ในกลุ่มแบคทีเรียที่ดี เป็นจุลินทรีย์ที่มีชีวิต และมีประโยชน์ ช่วยให้สุขภาพแข็งแรง

เมื่อได้ชื่อว่าเป็น แบคทีเรีย ก็เอ๊ะ! แบคทีเรียไม่ใช่เชื้อโรคเหรอ แบคทีเรียดีมีด้วยหรือ แล้วมันดีอย่างไร มีประโยชน์มากน้อยแค่ไหน จำเป็นต้องบริโภคเพิ่มหรือไม่

วันนี้มาลองทำความรู้จักกับประโยชน์ของ Probiotic ผลกระทบ ข้อดี ข้อเสีย ที่ร่างกายจะได้รับจากสารอาหารตัวนี้กัน  

ประโยชน์ของ Probiotic [สรุป]

  • ช่วยรักษาสมดุลของแบคทีเรียในทางเดินอาหาร
  • รักษา และป้องกันอาการท้องเสีย ท้องร่วง
  • ปรับภาวะสุขภาพจิตให้ดีขึ้น
  • บำรุงหัวใจให้แข็งแรง
  • อาจลดภูมิแพ้ และผื่นผิวหนังอักเสบ
  • มีส่วนช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันในร่างกาย
  • ช่วยควบคุมน้ำหนัก และไขมัน

โพรไบโอติก ช่วยอะไร

สายพันธุ์ของ Probiotic หลัก ๆ แล้วมี 3 ชนิด คือ

  • Lactobacillus
  • Bifidobacterium
  • Saccharomyces boulardii

ซึ่งแต่ละตัวก็ทำหน้าที่แตกต่างกัน มาดูกันดีกว่าว่า Probiotic ช่วยอะไร ดีอย่างไรกับร่างกายบ้าง

1. ช่วยรักษาสมดุลของแบคทีเรียในทางเดินอาหาร

ประโยชน์ของ Probiotic

โพรไบโอติก มีส่วนสำคัญในการช่วยรักษาสมดุลของแบคทีเรียในทางเดินอาหาร เมื่อร่างกายได้รับแบคทีเรียชนิดไม่ดีมากเกินไป จนอาจทำให้เกิดอาการเจ็บป่วย เกิดโรคต่าง ๆ โพรไบโอติกซึ่งเป็นแบคทีเรียดี จะเข้าไปช่วยต่อต้าน และปรับสมดุลของแบคทีเรียให้พอดี

การได้รับโพรไบโอติก ช่วยลดอาการผิดปกติของระบบทางเดินอาหาร หรือโรคเกี่ยวกับลำไส้ มีอาการดีขึ้นได้ และยังอาจมีประโยชน์กับโรคลำไส้อื่น ๆ ด้วย

2. รักษาและป้องกันอาการท้องเสีย ท้องร่วง

จุลินทรีย์โพรไบโอติกนั้น พบมากในลำไส้ ซึ่งการได้รับโพรไบโอติกในปริมาณที่เหมาะสม จะช่วยลดอาการท้องเสีย ท้องร่วง รวมไปถึงการป้องกันได้ ไม่ว่าจะเป็นท้องร่วงจากการทานยาปฎิชีวนะ หรือจากการติดเชื้ออื่น ๆ

อย่าง Lactobacillus ช่วยแก้อาการท้องร่วง และยีสต์ที่พบในโปรไบโอติก ชื่อว่า Saccharomyces boulardii เหมือนจะช่วยลดอาการท้องเสียและปัญหาทางเดินอาหารอื่น ๆ ได้

3. ปรับภาวะสุขภาพจิตให้ดีขึ้น

ประโยชน์ของ Probiotic

จากรายงานการศึกษาจำนวนหนึ่ง พบความเกี่ยวข้องระหว่างสุขภาพลำไส้ กับสุขภาพจิต ซึ่งการได้รับผลิตภัณฑ์เสริมอาหารโพรไบโอติก มีส่วนช่วยให้โรคทางจิตเวชบางชนิดดีขึ้นได้

ตัวอย่างเช่น มี การศึกษา พบว่า การได้รับสารอาหารโพรไบโอติก Bifidobacterium และ Lactobacillus ระยะเวลา 1 เดือน พบว่ามีส่วนช่วยให้ภาวะของอาการซึมเศร้า ออทิสติก โรคย้ำคิดย้ำทำ โรควิตกกังวล ลดน้อยลง

และมีการศึกษาโดยใช้วิธีรักษาโรคซึมเศร้าด้วยการทานยาแก้ซึมเศร้าร่วมกับ Probitic ก็พบว่าสามารถลดอาการซึมเศร้าได้

รวมถึงคนที่ทานอาหารเสริมโพรไบติกต่อเนื่อง 8 สัปดาห์ ยังช่วยลดระดับความเครียด และลดกาารอักเสบในร่างกาย และลดฮอร์โมนอย่าง อินซูลิน ได้มากกว่าคนที่ไม่ได้ทานโพรไบโอติกเลย (อ้างอิง)

4. บำรุงหัวใจให้แข็งแรง

โพรไบโอติกบางสายพันธุ์ ช่วยลดความดันเลือด และลดระดับโคเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (LDL) ได้ ซึ่งจากการศึกษาในผู้มีโคเลสเตอรอลสูง จำนวน 127 คน ที่ได้รับโพรไบโอติกสม่ำเสมอใน 9 สัปดาห์ พบว่าสามารถลดโคเลสเตอรอลโดยรวม 9% และลดโคเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (LDL) ได้ถึง 12% 

นอกจากนี้ยังช่วยลดไตรกลีเซอไรด์ และอาจช่วยลดการอักเสบต่าง ๆ ในร่างกายได้ด้วย จากการศึกษาต่าง ๆ ที่พบเหล่านี้ จึงเชื่อว่าโพรไบโอติกนั้น มีส่วนช่วยบำรุงหัวใจให้แข็งแรงได้

5. อาจลดภูมิแพ้ และผื่นผิวหนังอักเสบ

จากการวิจัยที่ผ่านมา พบความเกี่ยวข้องว่า การได้รับโพรไบโอติก จะช่วยลดอาการภูมิแพ้ รวมถึงโรคผื่นผิวหนังอักเสบในเด็ก และทารกได้ แต่อย่างไรก็ตาม ยังไม่สามารถระบุแน่ชัด และยังจำเป็นต้องได้รับการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมมากขึ้น

6. มีส่วนช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันในร่างกาย

แม้จะยังมีข้อมูลยืนยันไม่มากนัก แต่ก็มีการวิจัยที่พบว่า โพรไบโอติกมีส่วนช่วยลดการติดเชื้อในทางเดินหายใจ และลดการติดเชื้อในกระเพาะปัสสาวะได้ จึงเรียกได้ว่ามีส่วนเสริมภูมิคุ้มกันให้ดีขึ้น

7. ช่วยควบคุมน้ำหนัก และไขมัน

ประโยชน์ของ Probiotic

โพรโบโอติก อาจช่วยลดน้ำหนักได้ เพราะโพรโบโอติกบางชนิด สามารถช่วยป้องกันการดูดซึมไขมันในลำไส้ และขับออกทางอุจจาระแทนการสะสมตามร่างกาย

และมีการศึกษาว่าโพรโบโอติกสายพันธุ์ Lactobacillus และ Bifidobacterium มีส่วนช่วยลดน้ำหนักมากที่สุด เมื่อทำร่วมกับการทานอาหารแคลอรีต่ำและออกกำลังกาย แต่ยังคงต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมอีกในอนาคต

โพรไบโอติก มีอยู่ในอะไรบ้าง?

โพรไบโอติกชนิดที่เราคุ้นเคยกันดี คือ จุลินทรีย์แลคโตบาซิลลัส ซึ่งมักพบมากในโยเกิร์ต และเรามักพบโพรไบโอติกในอาหารประเภทหมักดองด้วย ซึ่งเราอาจได้รับโพรไบโอติกเพิ่มจากอาหารต่าง ๆ เหล่านี้ เช่น

  • โยเกิร์ต
  • บัตเตอร์มิลค์
  • ขนมปังซาวโดวจ์ (Sourdough)
  • ชีสสด (Cottage Cheese)
  • ชาหมัก (Kombucha)
  • เทมเป้ (Tempeh) หรือ ถั่วเหลืองหมัก
  • ผักดอง
  • กิมจิ
  • ซุปมิโซะ

นอกจากในอาหารต่าง ๆ แล้ว ยังสามารถเสริมโพรไบโอติกเพิ่มได้จาก ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ไม่ว่าจะเป็น Probiotic ในรูปแบบแคปซูล, แบบผง หรือแบบกัมมี่ เป็นต้น หรืออาจมาในรูปของอาหารเสริม ดีท็อกซ์ ที่มีส่วนผสมของโพรไบโอติกก็ได้เช่นกัน

บทสรุป

การทานโพรไบโอติก ยังไม่มีผลข้างเคียงที่บอกได้ชัดเจน เพราะโพรไบโอติกเป็นสารอาหารที่มีความปลอดภัยสูง แต่หากคุณทานโพรไบโอติก แล้วรู้สึกผิดปกติ เช่น ท้องอืด ท้องเสีย คลื่นไส้ เป็นเวลานาน และไม่ดีขึ้น หรือหากมีความผิดปกติอื่น ๆ ควรไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุที่ถูกต้อง

และยังไม่มีการระบุว่าควรได้รับโพรไบโอติกในปริมาณเท่าไร แต่มักมีการบริโภคในปริมาณมาก อย่างที่เราได้เห็นการโปรโมตในผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ว่ามีจุลินทรีย์อยู่เป็นล้านหน่วย ซึ่งยังนับว่าเป็นปริมาณที่ปลอดภัย และหากรับประทานในรูปแบบอาหารเสริม แนะนำว่าควรทานตามฉลากระบุไว้จะดีที่สุด (อ้างอิง)

อย่างไรก็ดี ยังไม่มีการศึกษาที่แน่ชัดว่า โพรไบโอติกชนิดใดที่ดีที่สุด หรือควรได้รับปริมาณเท่าไรจึงจะเหมาะสมที่สุด แต่ก็เป็นที่ยอมรับว่า โพรไบโอติกนั้นมีประโยชน์ในด้านสุขภาพ ช่วยให้ร่างกายแข็งแรง และที่ชัดเจนมาก ๆ คือช่วยให้ลำไส้ทำงานได้อย่างเป็นปกติ

ดังนั้น การเสริมโพรไบโอติกเป็นประจำ ก็นับได้ว่าเป็นทางเลือกหนึ่งในการดูแลสุขภาพ โดยควรได้รับไปพร้อม ๆ กับสารอาหารจำเป็นต่าง ๆ ในปริมาณที่พอเหมาะ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง และใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข

คำถามที่พบบ่อย

โพรไบโอติก กับ พรีไบโอติก ต่างกันยังไง

โพรไบโอติก คือแบคทีเรียดี หรือจุลินทรีย์ที่มีชีวิต ที่ช่วยปรับสมดุลแบคทีเรียในลำไส้ ส่วนพรีไบโอติกนั้น เป็นอาหารของโพรไบโอติก ช่วยให้จุลินทรีย์แข็งแรง พบมากในผักผลไม้ที่มีใยอาหาร 

อ้างอิง

https://my.clevelandclinic.org/health/articles/14598-probiotics

https://www.healthline.com/nutrition/8-health-benefits-of-probiotics#bacteria-balance

https://www.webmd.com/digestive-disorders/what-are-probiotics

https://www.nccih.nih.gov/health/probiotics-what-you-need-to-know

https://www.health.com/probiotics-benefits-7561021

Chalita Chamnanmueang

Chalita Chamnanmueang

เบสท์จบการศึกษาจากคณะศิลปศาสตร์ สาขาวิชาภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ปัจจุบันเป็น Editor และ Content writer ประจำ Mizzyreview มีประสบการณ์เขียน copywriting, แปลบทความอังกฤษ-ไทย และรับผิดชอบตรวจสอบเนื้อหา และตีพิมพ์บทความผ่าน WordPress คอยอัปเดตเนื้อหาหลายๆ ด้าน ทั้งบิวตี้ไอเทม สกินแคร์ อาหารเสริม และเทคโนโลยีต่างๆ ให้สาวๆ ได้เข้าถึงทุกเทรนด์ ทุกไอเทมเด็ดกันค่ะ