ทุกวันนี้กันแดดถือเป็นสกินแคร์อย่างหนึ่งที่ขาดไม่ได้ ไม่เพียงแต่สาวๆที่กังวลเรื่องผิวพรรณ หรือหนุ่มๆสายกีฬาที่ต้องออกแดด คนวัยทำงาน เด็กนักเรียน ไปจนถึงผู้สูงวัย ทุกเพศทุกวัยต่างหันมาให้ความสนใจใช้กันแดดกันอย่างแพร่หลาย
แต่กันแดดมีวิธีเลือกใช้อย่างไร? แต่ละกิจกรรมแต่ละสภาพผิวต้องการกันแดดแบบไหน และใครที่เหมาะกับกันแดดแต่ละแบบบ้าง
วันนี้เราหาคำตอบการเลือกครีมกันแดดให้เหมาะกับผิวมาให้เพื่อนๆแล้วค่ะ
ทำไมต้องทาครีมกันแดด
ก่อนจะเลือกซื้อครีมกันแดดที่ดีซักตัว เรามาทำความเข้าใจกันก่อนว่า ทำไมเราจึงต้องใช้กันแดด
อันที่จริงแสงแดดนับว่ามีประโยชน์ต่อร่างกายมนุษย์ ทั้งช่วยให้ร่างกายสังเคราะห์วิตามินดี ซึ่งช่วยเสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรง และการรับแสงแดดยังมีผลดีต่อการทำงานของระบบประสาท แต่ในทางตรงกันข้าม แสงตามธรรมชาติก็มีผลร้ายต่อผิวพรรณเช่นกัน
แสงจากดวงอาทิตย์ประกอบด้วยรังสีแสงย่อยๆหลายชนิด ที่สำคัญได้แก่ รังสีอัลตราไวโอเลต (Ultraviolet Ray) หรือที่เรียกกันสั้นๆว่ารังสียูวี รังสีดังกล่าวนี้มีผลกระทบที่สำคัญต่อผิวพรรณของเรา แบ่งตามชนิดดังนี้ค่ะ
- UVA
รังสียูวีชนิดที่มีความยาวคลื่นสูงสุด รังสีชนิดนี้จะทะลุทะลวงชั้นผิวได้ลึกที่สุด และเป็นตัวการสำคัญทำให้สีผิวเปลี่ยนเป็นหมองคล้ำ ทำให้เกิดริ้วรอยต่างๆ - UVB
รังสีชนิดนี้จะมีอำนาจทะลุทะลวงน้อยกว่าชนิด UVA แต่มีอานุภาพที่ร้ายแรงกว่า โดยจะเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดมะเร็งผิวหนัง และเป็นเหตุหลักของความเสื่อมโทรมตามอายุของผิว
- UVC
รังสีชนิดนี้มีความยาวคลื่นสั้นที่สุด จึงมีอานุภาพร้ายแรงที่สุด แต่โชคดีที่อำนาจทะลุทะลวงน้อย จึงมาถึงพื้นโลกและมีโอกาสสัมผัสกับผิวเราได้น้อย
จะเห็นได้ว่ารังสียูวีที่มากับแสงอาทิตย์ สามารถทำร้ายผิวของเราได้ทั้งในชั้นลึกและชั้นตื้น ทำให้เกิดความหมองคล้ำและริ้วรอยต่างๆ และที่สำคัญที่สุด เป็นเหตุให้เกิดมะเร็งผิวหนังได้ ผลิตภัณฑ์กันแดดจึงกลายมาเป็นอุปกรณ์ดูแลผิวที่ขาดไม่ได้ ไม่ว่าจะในแง่ความสวยงาม หรือในแง่สุขอนามัยก็ตาม
ในเว็บไซต์ของสมาคมแพทย์โรคผิวหนังสหรัฐอเมริกา ซึ่งถือเป็นองค์กรแพทย์ชั้นนำของโลก แนะนำให้ “ทุกคน” ที่มีอายุตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป ปกป้องผิวเป็นประจำด้วยผลิตภัณฑ์กันแดดค่ะ
กันแดดปกป้องผิวของเราได้อย่างไร
ในผลิตภัณฑ์กันแดดจะผสมสารบางอย่าง ที่ช่วยปกป้องผิวไม่ให้สัมผัสกับแสงแดดโดยตรง แต่กลไกที่ใช้ปกป้องผิวนั้น จะแตกต่างกันไปโดยแบ่งหลักๆเป็น 2 กลุ่ม
1.Physical Sunscreen
กันแดดกลุ่มนี้จะผสมสารซึ่งมีคุณสมบัติสะท้อนแสง เมื่อทาบนผิวแล้วก็ช่วยฉาบผิวของเราไว้ และสะท้อนแสงที่เข้ามาใกล้ออกไป ไม่ให้ผิวของเราสัมผัสกับแสงโดยตรง
ตัวอย่างสารในกลุ่มนี้ : Zinc Oxide, Titenium Dioxide
2.Chemical Sunscreen
กันแดดกลุ่มนี้จะกันไม่ให้แสงทะลุทะลวงผิว โดยผสมสารที่มีคุณสมบัติดูดซับแสงได้ และคายแสงออกไปในรูปความร้อน
ตัวอย่างสารในกลุ่มนี้ : Avobenzone, Octinoxate, Oxybenzone
จะสังเกตได้ว่า ทั้งสองกลไกต่างเน้นไม่ให้แสงสัมผัสผิวได้โดยตรง ต่างกันตรงที่ แบบแรกสะท้อนแสงออกไป ขณะที่แบบหลังใช้วิธีทางเคมีเปลี่ยนรูปแบบพลังงานแสง
ด้วยกลไกที่แตกต่างกันนี้ ส่งผลให้กันแดดในแต่ละกลุ่ม มีจุดเด่นที่แตกต่างกันไปค่ะ
ประเภทของครีมกันแดด
ปัจจุบันนี้ ผู้ผลิตได้พัฒนาผลิตภัณฑ์กันแดดให้มีคุณสมบัติที่หลากหลาย ดังนั้นหากจะแบ่งประเภทกันแดด ก็สามารถแบ่งได้หลายรูปแบบมากค่ะ
แบ่งตามกลไกการป้องกันผิว
1.Physical Sunscreen
ได้แก่ กันแดดที่ใช้วิธีสะท้อนแสงปกป้องผิว กันแดดชนิดนี้มีข้อดีคือสามารถปกป้องผิวจากแสงได้ทุกรูปแบบ และไม่มีการเกิดปฏิกิริยาเคมีบนผิวหน้า จึงเหมาะกับผู้มีผิวแพ้ง่าย แต่มีข้อเสียคือ มักทิ้งคราบขาว(white cast)และสีของใบหน้าอาจเพี้ยนจากปกติ
2.Chemical Sunscreen
ได้แก่ กันแดดที่ใช้วิธีซับแสงไม่ให้ทะลุทะลวงผ่านชั้นผิว กันแดดชนิดนี้มักผสมสารหลายชนิด และมีปฏิกิริยาเคมีเกิดขึ้นขณะทำงาน จึงมักแนะนำให้หลีกเลี่ยงในผู้มีผิวแพ้ง่าย แต่มีข้อดีในเรื่องไม่ทิ้งคราบขาว
3.Hybrid Sunscreen
กันแดดที่ใช้ทั้งวิธีสะท้อนแสง และซับแสงร่วมกัน โดยพยายามนำข้อดีของกันแดดอีกสองประเภทมารวมกัน มักมีคุณสมบัติกันแดดได้ครอบคลุม ไม่เหนอะหนะ ไม่ทิ้งคราบขาว ปัจจุบันมีหลายตัวมากขึ้นในตลาด
แบ่งตามรูปแบบของกันแดด
1.รูปแบบครีม
กันแดดส่วนใหญ่ในตลาดมักอยู่ในรูปแบบครีม จึงนับเป็นรูปแบบมาตรฐาน สารหลักที่ผสมไว้มีความเสถียรสูง อย่างไรก็ตาม ด้วยเนื้อสัมผัสที่หนัก อาจทำให้รู้สึกเหนอะหนะ และทำให้ผิวเกิดการอุดตันได้ จึงอาจไม่เหมาะเป็นกันแดดสำหรับคนเป็นสิว
2.รูปแบบเจล
เป็นกันแดดที่พัฒนาให้มีเนื้อสัมผัสบางเบาขึ้น จึงอาจเหมาะเป็นกันแดดสำหรับผิวมัน หรือกันแดดสำหรับคนเป็นสิว
3.รูปแบบโลชั่น
มีเนื้อสัมผัสบางเบา ใช้งานง่าย หลายแบรนด์พัฒนาสูตรให้สามารถบำรุงผิวร่วมด้วย เหมาะใช้แทนครีมกันแดดทาตัว
3.รูปแบบสเปรย์
สเปรย์กันแดดถือเป็นกันแดดรูปแบบที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เนื่องด้วยใช้งานง่าย เหมาะกับผิวในบริเวณกว้าง บริเวณที่มือเราอาจเอื้อมไม่ถึงหรือทาให้ทั่วถึงได้ยาก โดยรวมจึงเหมาะใช้แทนครีมกันแดดทาตัว
4.รูปแบบแท่ง
ใช้วิธีป้ายลงบนผิวหนัง แม้จะดูใช้งานลำบาก แต่กันแดดแบบแท่งติดผิวทนนานกว่ากันแดดแบบอื่นๆ ทั้งมีขนาดเล็กพกพาสะดวก จึงได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ
วิธีเลือกครีมกันแดดให้เหมาะสม
แรกสุดเรามาเรียนรู้กันก่อนค่ะว่า เรามีวิธีดูกันแดดอย่างไร การเลือกซื้อกันแดดต้องพิจารณาอะไรบ้าง
1.สังเกตค่า SPF
ค่า SPF เป็นค่าที่ใช้กันในระดับสากล เพื่อบ่งบอกระดับการป้องกันรังสี UVB โดยบอกเป็นตัวเลข ค่ายิ่งมากยิ่งป้องกันได้มาก สำหรับการใช้งานทั่วไปนั้น ครีมกันแดด SPF 30 ถือเป็นระดับมาตรฐานที่แพทย์ผิวหนังแนะนำให้เลือกใช้
ทังนี้หลายท่านอาจคุ้นเคยกับค่า PA ที่กันแดดหลายๆตัวมักแจ้งตามหลังค่า SPF ที่จริงค่า PA เป็นค่าที่ใช้บอกระดับการป้องกันรังสี UVA ค่ะ โดยแสดงเป็นจำนวนเครื่องหมายบวก (PA+ ถึง PA++++) ยิ่งมากยิ่งปกป้องได้มาก บางประเทศอาจแสดงระดับการป้องกันในระบบ UVA-PF โดยแสดงค่าเป็นตัวเลข (1-16) ยิ่งตัวเลขมากยิ่งปกป้องได้มากเช่นกันค่ะ
2.เลือกใช้กันแดดแบบ Broad Spectrum
นอกจาก UVA และ UVB แล้ว กันแดดบางตัวยังสามารถปกป้องผิวเราจากรังสีอื่นๆได้ เช่น UVC, Blue light หรือแสงสีฟ้าจากคอมพิวเตอร์ และรังสีแสงในความยาวคลื่นอื่นๆ ซึ่งแม้เป็นรังสีที่สำคัญในระดับรองๆลงมา แต่ก็มีผลต่อผิวเราเช่นกัน โดยกันแดดในลักษณะนั้น จะเขียนบนฉลากว่า Broad Spectrum หรือสอบถามจากพนักงานขายร่วมด้วย
3.ประเภทของกันแดด
กันแดดบางส่วนจะแจ้งไว้บนฉลากว่า เป็นแบบ Physical, Chemical, หรือ Hybrid Sunscreen เพื่อให้ผู้บริโภคง่ายต่อการเลือกซื้อ แต่หากไม่แจ้ง เราสามารถพลิกดูจากส่วนผสมได้ค่ะ โดยจำง่ายๆว่า หากเป็น Physical Sunscreen จะมีส่วนผสมของ Zinc Oxide และ/หรือ Titenium Dioxide
4.รูปแบบของกันแดด
อ่านได้จากฉลากว่าเป็นแบบครีม, แบบเจล ฯลฯ หรือสังเกตจากรูปร่างของบรรจุภัณฑ์ก็ได้ค่ะ
5.คุณสมบัติพิเศษ
ปัจจุบันกันแดดหลายชนิดถูกผสมขึ้นโดยเป้าหมายพิเศษ เช่น กันแดดสำหรับผิวแพ้ง่าย กันแดดผสมรองพื้น, กันแดดกันน้ำได้ ฯลฯ เป็นต้น ซึ่งเหมาะกับผู้ใช้หรือกิจกรรมที่แตกต่างกัน
เมื่อทราบวิธีดูกันแดดแล้ว เราก็กลับมาพิจารณาการใช้งานของเรากันค่ะ ว่าจะเหมาะกับกันแดดแบบไหน โดยพิจารณาจากปัจจัยดังต่อไปนี้
1.ลักษณะสภาพผิว
- ผิวแพ้ง่าย เหมาะกับกันแดดแบบ Physcial Sunscreen หรืออาจเป็นชนิดที่ผสมสูตรสำหรับผิวแพ้ง่ายโดยเฉพาะ
- ผิวมัน เหมาะกับกันแดดรูปแบบเจล หรือสูตรที่ระบุว่า oil-free
- ผิวมีปัญหาสิว ให้เลือกใช้กันแดดที่ระบุว่า noncomedogenic (ไม่ก่อให้เกิดสิว) และพยายามเลือกใช้รูปแบบเจลหรือชนิด oil-free เพื่อลดการอุดตัน
2.บริเวณที่ใช้งาน
- ครีมกันแดดทาหน้า ผิวหน้าเป็นผิวที่บอบบางกว่าบริเวณอื่น แนะนำให้เลือกใช้กันแดดที่ผลิตสำหรับผิวหน้าโดยเฉพาะ
- ครีมกันแดดทาตัว โดยทั่วไปแล้วสามารถเลือกใช้กันแดดได้ทุกชนิด แต่เนื่องจากผิวกายมีพื้นที่กว้าง บางบริเวณ เช่น แผ่นหลัง ลงครีมได้ลำบาก จึงแนะนำให้ใช้รูปแบบสเปรย์กันแดด
3.ลักษณะกิจกรรม
- ครีมกันแดดออกแดดจัด
ให้เลือกใช้กันแดดชนิด broad spectrum มี SPF และ PA ที่สูง อย่างไรก็ตาม แม้ว่า SPF ยิ่งมากยิ่งกันได้มาก แต่ค่า SPF ที่สูงกว่า 50 ไม่ได้เพิ่มการป้องกันเท่าไหร่นัก นั่นหมายความว่า เราควรเลือก SPF ที่ไม่ต่ำกว่า 30 เพราะถือเป็นค่ามาตรฐานขั้นต่ำสำหรับกิจกรรมทั่วไป แต่ก็ไม่จำเป็นต้องสูงกว่า 50 นั่นเอง - ครีมกันแดดสำหรับเล่นกีฬา
แนะนำให้เลือกกันแดดชนิดกันน้ำ เนื่องจากอาจมีการเสียเหงื่อ ส่งผลต่อประสิทธิภาพการกันแดดได้
วิธีใช้ครีมกันแดด
นอกจากเลือกใช้ครีมกันแดดอย่างเหมาะสมแล้ว การทาครีมกันแดดที่ถูกต้อง ยังถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพการกันแดดอีกด้วย การทาครีมกันแดดทั่วไปมีวิธีการดังนี้ค่ะ
1.ทาให้ทั่วบริเวณที่ต้องการปกป้อง
หากเป็นบริเวณตัว ให้ทาจนทั่วผิวกายนอกร่มผ้า รวมถึงบริเวณหลังคอ และแผ่นหลัง ซึ่งมักเป็นบริเวณที่คนทั่วไปไม่นึกถึง หรือไม่สามารถทาให้ทั่วถึงได้ อาจใช้กันแดดรูปแบบอื่นๆ เช่น สเปรย์กันแดดช่วย หรือให้คนช่วยทาให้
สำหรับวิธีทาครีมกันแดดหน้า ให้ใช้ปลายนิ้วค่อยๆเกลี่ยครีมจากบริเวณกลางใบหน้า ออกไปด้านข้างจนถึงไรผม เพื่อให้แน่ใจว่าทาทั่วถึงทั้งใบหน้า
2.ทาครีมกันแดดอย่างเพียงพอ
ครีมกันแดดบนผิวต้องหนาเพียงพอ จึงจะสามารถกันแดดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปริมาณการทาครีมกันแดด จึงเป็นอีกปัจจัยที่สำคัญ
- ผิวหน้า ทาครีมกันแดด 2 ข้อนิ้วโดยประมาณ เกลี่ยจนทั่ว
- ผิวกาย กะประมาณผิวกายผู้ใหญ่เท่ากับครีม 1 ออนซ์ (ถ้วยเล็ก) เน้นให้ทาจนทั่ว
3.ทาครีมกันแดดก่อนออกแดด และเติมเป็นระยะ
หลายท่านอาจมีคำถามว่า ครีมกันแดดทาตอนไหนจึงดี คำตอบคือ ให้ทาเป็นประจำก่อนออกแดด 15-30 นาที และทาซ้ำทุกๆ 2-3 ชั่วโมง
สาเหตุเพราะกันแดดนั้น เมื่อทาลงไปแล้วต้องการเวลาอีกระยะหนึ่ง เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการปกป้องผิวของเรา และเพราะกันแดดอาจหลุดลอกออกไปกับเหงื่อ หรือกิจวัตรประจำวันต่างๆ รวมถึงเลยระยะเวลาที่สารจากครีมกันแดดจะแสดงประสิทธิภาพได้เต็มที่ การทากันแดดก่อนออกแดด และทาซ้ำจึงมีความสำคัญเช่นเดียวกัน
4.วิธีทาครีมกันแดด กับครีมบำรุง
นอกจากครีมกันแดดแล้ว เรายังอาจใช้สกินแคร์บำรุงผิวอีกหลายชนิดร่วมกัน แบบนี้เราจะมีวิธีเลือกใช้อะไรก่อนหลัง
แพทย์ผิวหนังแนะนำว่า ให้สังเกตก่อนค่ะว่า ครีมกันแดดของเราเป็นแบบ Physical หรือ Chemical Sunscreen
- Physcial Sunscreen ทำงานโดยการสะท้อนแสงด้วยตัวสาร จึงควรทาครีมหรือโลชั่นบำรุงผิวก่อน แล้วจึงตามด้วยครีมกันแดดค่ะ
- Chemical Sunscreen ทำงานโดยซับแสงไว้แล้วเปลี่ยนเป็นความร้อน กันแดดในกลุ่มนี้ต้องการยึดเกาะกับผิวของเรา จึงควรทากันแดดก่อนโลชั่นหรือครีมบำรุงผิว โดยทากันแดดไว้ชั้นในสุด แล้วจึงทาสกินแคร์อื่นๆทับ
อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ยังมีการถกเถียงในหมู่ผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงยังไม่มีคำตอบที่แน่ชัดสำหรับ Hybrid Sunscreen นะคะ แต่อย่างไรก็ตามการทากันแดดไม่ว่าก่อนหรือหลังสกินแคร์ ย่อมดีกว่าการไม่ทาครีมกันแดดเลยแน่นอนค่ะ
วิธีปกป้องผิวจากแสงแดดวิธีอื่นๆ
จริงอยู่ว่าบทความนี้เราเน้นไปที่ผลิตภัณฑ์กันแดด แต่ความจริงแล้ว วิธีกันแดดอื่นๆก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกันค่ะ
- หลีกเลี่ยงการออกแดดจัด
หากหลีกเลี่ยงการออกแดด โดยเฉพาะในช่วงที่แดดจ้าได้ ถือเป็นทางเลือกปกป้องผิวที่ดีที่สุด อย่างไรก็ตาม การหลีกเลี่ยงคงไม่สามารถทำได้ทุกกรณี เราจึงมีตัวช่วยเป็นกันแดดรูปแบบต่างๆนั่นเองค่ะ - การเลือกเสื้อผ้าที่เหมาะสม
หากต้องทำกิจกรรมกลางแดด เช่น กีฬาปีนเขา หรือทำงานกลางแดดรูปแบบต่างๆ เราอาจเลือกใช้เสื้อแขนยาว, ปลอกแขนกันแดด, หมวกที่มีผ้าซับหลังคอกันแดด หรือผลิตภัณฑ์เสื้อผ้าที่เน้นปกป้องผิวช่วยเสริมร่วมด้วย - การใส่แว่นกันแดด
ในจำนวนอวัยวะทั้งหมด ดวงตาถือเป็นสิ่งที่ไม่สามารถหลบเลี่ยงแสงได้เลย และไม่มีครีมกันแดดใดช่วยได้ แต่เรายังสามารถใช้แว่นกันแดดได้ค่ะ โดยปัจจุบันแว่นกันแดดมีหลายรูปแบบ ทั้งชนิดที่ใช้สำหรับกันแดดทั่วไป, ชนิดที่ใส่สำหรับตัดแสงขณะขับรถ ไปจนถึงชนิดสำหรับนักปีนเขา ที่ต้องพบเจอแสงจ้าและแสงที่สะท้อนจากหิมะ
ข้อดีข้อเสียของการทาครีมกันแดด
ข้อดี
- ปกป้องผิวคล้ำเสีย
- ชะลอความเหี่ยวย่น
- ลดการเกิดริ้วรอย
- ลดโอกาสการเกิดโรคมะเร็งผิวหนัง
ข้อเสีย
- ร่างกายผลิตวิตามินดีได้ยากขึ้น
- กันแดดมีเนื้อเหนียว หากล้างไม่ดี อาจเกิดการอุดตัน นำไปสู่การเกิดสิว
แนะนำกันแดดที่ดีที่ควรมีติดโต๊ะเครื่องแป้ง
กันแดด biore : Biore UV Aqua Rich Watery Essence SPF50+ PA++++ กันแดด anessa : Anessa Perfect UV Sunscreen skincare gel SPF50+PA++++ กันแดด nivea : Nivea Sun Protect & White Oil Control Serum SPF50+ PA+++ กันแดด mizumi : MizuMi UV Water Serum SPF50+ PA++++ กันแดด ยูเซอรีน : Eucerin Sun Dry Touch Acne Oil Control Face SPF50+ PA+++ |
โดยสรุปแล้ว การเลือกซื้อครีมกันแดดอย่างเหมาะสม ทั้งกับผิวของเรา กับการใช้งาน กับค่าใช้จ่าย รวมไปถึงการใช้ครีมกันแดดอย่างถูกต้องถูกวิธี ย่อมยังผลให้ผิวพรรณของเราสดใส แข็งแรง ห่างไกลจากริ้วรอยและโรคร้ายได้อย่างแน่นอนค่ะ